ย้ำซ้ำๆกุมขมับค่าแรง 400 ทำส่งออกหาย 1.4 แสนล้าน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 62 และผลกระทบของนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท โดยพบว่า หากรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 400 บาทจริง จะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงทันทีปีละ 1.8% คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 4,524 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 142,961 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้มูลค่าส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ลดลง 0.9% คิดเป็นมูลค่า 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพราะค่าแรงที่ปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท หรือเพิ่มขึ้น 30% จากปัจจุบัน จะทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นและแข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานคน จำนวนมาก อย่างอุตสาหกรรมการเกษตร, เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม, อาหาร รัฐบาลจึงควรทยอยปรับขึ้นค่าจ้างแบบขั้นบันไดหรือขึ้นครั้งละ 5% เพื่อให้ผู้ส่งออกได้ปรับตัวได้ รวมถึงต้องเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับรายได้ด้วย

“ได้มีการศึกษาย้อนหลังไป 15 ปี พบว่าการส่งออกไทยพึ่งพาค่าจ้างแรงงานอย่างมาก โดยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะทำให้มูลค่าส่งออกลดลง 0.06% เมื่อมีการขึ้นพรวดเดียวเป็น 400 บาท จะทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 30% หากผู้ประกอบการไม่ขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุน ก็จะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าขึ้นราคา ก็จะไม่มีใครซื้อเช่นกัน” สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำของไทยปัจจุบันอยู่ที่วันละ 308-330 บาท หากขึ้นเป็น 400 บาท จะทำให้สูงกว่าคู่แข่งมากขึ้น เช่น จีน ที่เฉลี่ยวันละ 215-330 บาท, อินโดนีเซีย วันละ 117-294 บาท, มาเลเซีย วันละ 278 บาท, ฟิลิปปินส์ วันละ 196-246 บาท, เวียดนาม วันละ 167-190 บาท, กัมพูชา วันละ 180 บาท, ลาว วันละ 136 บาท, เมียนมา วันละ 101 บาท เป็นต้น

นายอัทธ์ กล่าวต่อถึงทิศทางการส่งออกไทยปี 62 ว่า คาดว่าทั้งปีจะมีมูลค่า 251,338 ล้านเหรียญ หรือติดลบ 0.64% ถือเป็นการหดตัว
ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดจะขยายตัวได้ 1.6% คิดเป็นมูลค่า 128,367 ล้านเหรียญ ขณะที่ครึ่งแรกปีนี้ ติดลบที่ 2.9% โดยการขยายตัวมาจากการขยายตัวของตลาดรอง ที่ไม่ใช่สหรัฐฯและจีน เช่น อินเดีย อาเซียน จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ สำหรับปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปี ยังคงเป็นจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ, ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง, ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เวียดนาม-สหภาพยุโรป ที่จะมีผลใช้บังคับในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยลดลงประมาณ 21,500 ล้านบาท จะกระทบสินค้าไทย ทั้งเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ เป็นต้น

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาติดลบ 5.54% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวติดลบต่ำสุดในรอบ 29 เดือน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอต่อเนื่อง จนการส่งออกของไทยเดือน มิ.ย.ไม่รวมทอง ติดลบมากที่สุดในรอบ 35 เดือน รวมทั้งการผลิตรถยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของไทยก็มีการส่งออกที่ลดลง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ไม่มีกำลังซื้อก็ลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สศอ.ยังคงเป้าหมายอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมทั้งปีนี้ ไว้ที่ 1.5-2.5% และคาดการณ์ดัชนีเอ็มพีไอไว้ที่ 1.5-2.5% ตามเดิม และจะทำทบทวนอีกครั้งในเดือน ส.ค.นี้.